
- เราต้องให้ความสำคัญกับทำเล แค่ไหน ?
- ทำเลที่ดี คืออะไร ?
- หาจะหาทำเลที่ดี ได้อย่างไร ?
ทำเล (place) ในยุคนี้มีความหมายมากกว่าแค่ตัวตึก ตำแหน่งของคลินิกในตึกแถว หรือพื้นที่บนห้างสรรพสินค้า (ทำเลทางกายภาพ – Geographic / Physical Place)
แต่ยังครอบคลุมในโลกเสมือนจริง เช่น ใน โซเชียลมีเดีย แต่ในบทความนี้จะขอเอยถึงเพียงเฉพาะทำเลที่ตั้งในเชิงกายภาพ
ในส่วนของการหาทำเลอย่างละเอียดเป็นหัวข้อที่ใหญ่เกินกว่าจะนำมาเขียนเป็นบทความได้ทั้งหมด แต่จากการที่ผมให้คำปรึกษาคุณหมอมามากมาย ผมจะพบปัญหาในการเลือกทำเลของคุณหมอค่อนข้างเยอะ ดังนี้
1.คุณหมอให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายของตนเองมากเกินไป

คุณหมอหลายคนอยากรักษา Lifestyle ของตนเอง เช่น
- ไม่ชอบตื่นเช้าฝ่ารถติด
- อยากมีคลินิกใกล้บ้านเพื่อจะเดินทางสะดวก ประหยัดเวลา
- อยากได้คลินิกที่สอดคล้องกับชีวิตลูก ไปรับไปส่งลูกที่โรงเรียนได้ด้วยตัวเองทุกวัน
- หรือมีคลินิกอยู่ในเขตเดียวกับตัวบ้านไปเลย ตื่นเช้ามาอาบน้ำ ทำเคสได้เลย
ทั้งนี้เหตุผลทั้งหมดที่แจ้งข้างต้น ไม่ใช่เหตุผลที่ดีในเชิงของธุรกิจคลินิกเวชกรรมเลยแม้แต่ข้อเดียว
ทำเลที่ดีของคุณหมอ ไม่ใช่ทำเลที่ดีสำหรับคนไข้
ทำเลที่ดีของคุณหมอ ไม่ใช่ทำเลที่ดีในแง่มุมของการตลาดและงานขาย (Sale & Marketing)
การที่คุณหมอมีความสะดวกสบายในชีวิตตาม Lifestyle ไม่ได้ก่อให้เกิด Value ใดต่อบริการของคลินิกเวชกรรมและไม่มีส่วนใด Benefit โดยตรงคนไข้
แต่ทำเลที่ดีในทางธุรกิจ คือ ทำเลที่คนไข้สะดวกสบาย เดินทางมาง่าย หาง่าย และสบายใจที่จะมา
**เพราะฉะนั้นเราจะต้องแยกคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ “เราต้องการ” กับสิ่งที่คลินิกเวชกรรม “ต้องการ” และสิ่งที่คนไข้ “ต้องการ”
2.ถ้าทำเลไม่ดี เราจะพบอะไร ?
ทำเลที่ไม่ดี จะดึงดูดคนไข้มาค่อนข้างยาก โดยเฉพาะถ้าคลินิกคุณหมอเป็นน้องใหม่ในตลาด ไม่มีชื่อเสียง ไม่มี Brand มันยากมากที่คนไข้จะลงทุนดั้นด้นไปหาในยุคที่คนไข้มีความขี้เกียจ ( ตาม Concept The Lazy Customer)

ทำเลที่ไม่ดี เข้าถึงยาก หายาก มองเห็นยาก หรือ คนไข้ต้องใช้ความลำบากมากเกินไปในการเข้าถึง จะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเติบโตของคลินิกโดยเฉพาะในช่วงแรก
เพราะรายได้คุณหมอจะแปรผันตรงจากจำนวนของเคสที่เดินทางเข้ามาถึงคลินิก (เคสเข้าน้อย รายรับน้อย) เพราะฉะนั้นการมีทำเลที่เข้าถึงง่ายจะเอื้ออำนวยมากกว่าทำเลแนวปิดกั้นขัดขวาง
3.ห้าง คือทำเลที่ดีไหม ?

ในห้างก็ดูเหมือนจะเป็นทำเลที่ดีหลายประการ และเรามักจะคุ้นเคยกับการเห็นคลินิกเวชกรรมความงามหลายยี่ห้อ นิยมไปเช่าสถานที่อยู่ในนั้น
ในแง่ของคนไข้ การอยู่ในห้างย่อมมีข้อดีกับคนไข้หลายอย่าง เพราะจอดรถสะดวกได้ แอร์เย็น ห้องน้ำพร้อม มี Ecosystem ให้ตนเองมาใช้บริการอื่น ๆ ได้ควบคู่ เช่น กินข้าว ไปธนาคาร นัดเพื่อ หรือ ชอปปิ้ง
ทั้งนี้ ในแง่การบริหารธุรกิจ การที่เราเช่าที่ในห้างจะต้องควบคู่กับการวางแผนการเงินที่ละเอียดรอบคอบ คือ ค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่
- ค่าเช่าที่ในห้างสรรพสินค้าระดับปานกลาง (ไม่ใช่ห้างหรู เช่น โลัส บิ้กซี) จะมีค่าเช่าที่เริ่มต้น 1,000 – 1,250 บาท ต่อ ตารางเมตร แปลว่าพื้นที่เล็ก ๆ เพียง 80 ตารางเมตรคุณหมอจะมีค่าเช่าต่อเดือน 100,000 บาท
- ถ้าเป็นห้างที่ Traffic ของคนหนาแน่นและอยู่กลางเมืองจะยิ่งแพงขึ้น เช่น Central พระราม 9 , Central ลาดพร้าว กลุ่มนี้จะราคาค่าเช่า 2,000 บาทขึ้นไป
- และถ้าเป็นห้างหรู เช่น สยามพาราก้อนอันนี้ว่ากันว่าเริ่มต้นที่ 5,000 – 6,000 บาท ต่อตารางเมตรเลยทีเดียว
การคำนวณค่าใช้จ่ายต่อเดือนของคลินิกเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะมันคือฐานของการนำเอาคำนวณต่อว่าคลินิกจะมีภาระในการ “หารายรับมาจุนเจือ” อย่างไร ผมแสดงให้ดูในบทความต่อไป 3.วางแผนทางการเงิน
4.ซื้อตึก หรือ เช่าตึก
ถ้าในการเลือกตึกแถวสักที่เพื่อเปิดเป็นคลินิก คุณหมอเลือกได้สามทาง
- ใช้ตึกที่มี (ตึกของครอบครัว แฟน ญาติ หรือของเราเอง)
- ซื้อตึกเป็นของตัวเอง
- เช่าตึก
ซื้อตึก
การลงทุนซื้อตึกย่อมมาด้วยคำถามว่าคุณหมอมีเงินทุนอยู่ในกระเป่ากี่บาท ?
ถ้าคุณหมอมีเงินสดมากพอ เช่นที่บานค่อนข้างมาฐานะ สามารถยกเงินให้คุณหมอเป็นมรดก (ล่วงหน้า) ได้ในวันนี้ 20 ล้าน ก็คงไม่มีอะไรต้องคิดมาก
ถ้าแต่คุณหมอจะต้อง “กู้” ธนาคารมา คุณหมอจะมีภาระในการชำระสินเชื่อที่กู้มาในอัตราราว 7,000 บาท ต่อเงินกู้ 1,000,000 บาท (ระยะเวลา 30 ปี)
**เป็นการคำนวณเบื้องต้นเท่านั้น ถ้าต้องการละเอียดให้สอบถามธนาคารเพราะอัตราดอกเบี้ยและโปรโมชั่นต่าง ๆ ของธนาคารก็จะเปลี่ยนไปในแต่ละช่วง
เช่น ถ้าตึกที่คุณหมอหมายตาไว้ และอยากจะซื้อ เขาติดราคาขาย 7 ล้านบาท คุณหมออาจจะติดต่อธนาคารและธนาคารให้กู้ที่ 6 ล้าน แปลว่าคุณหมอจะต้องหาเงินสดมา 1 ล้านบาท อีก 6 ล้านก็ผ่อนกับธนาคารไปเดือนละ 42,000 บาท (7,000*6 ตามสมการข้างต้น)
เช่าตึก
คุณหมอไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของตึกก็เป็นเจ้าของคลินิกได้
ถ้าคิดแบบนี้ ความจำเป็นในการที่คุณหมอจะเป็นกรรมสิทธิ์ในตึกแถวก็ไม่มีความจำเป็น และวิธีนี้เริ่มต้นธุรกิจง่ายที่สุด คุณหมอเหลือเงินหมุนเวียนไว้ใช้และไม่ต้องเสียเวลาเก็บเงินก้อนเพื่อซื้อตึก
การที่เราเป็น “ผู้เช่าตึก” ก็มีข้อเสียบ้างบางประการเช่นกัน เช่น การถูกยกต่อสัญญา การผิดใจ หรือ ทะเลาะกับเจ้าของตึก เพราะฉะนั้นก่อนเลือกตึกคุณหมอจะต้องดูด้วยว่าเช่าตึกอยู่กับใคร เขามีเป้าหมายเดียวกับเราหรือไม่
5.ขนาดของตึก
ผมฟันธงว่าคลินิกที่มีขนาดตึกแถว 2 ห้องยังถือว่าได้เปรียบกว่า 1 ห้องในหลายแง่มุม เพราะพื้นที่ใช้สอยเยอะ ภาพพจน์ดูเป็นคลินิกขนาดใหญ่ ดูน่าเชื่อถือ การบริหารจัดการและทำ Flow ก็ง่าย ป้ายทำให้ใหญ่ได้ ชัดได้ แต่ก็ตามมาด้วยต้นทุนที่สูงกว่า และอาจจะหาเช่ายากกว่า 1 ห้อง
สรุป
การหาทำเลที่ดีเปรียบเสมือนการคนใครสักคนมาเป็นชีวิตคู่
คุณจะต้องอยู่กับสิ่งที่เลือกไปยาว ๆ
คุณจะเอาดีไปเลย หรือ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ และทนอยู๋กับเขาตลอดไป ?
ในบทความนี้ผมก็ได้เปิดมุมมองให้คุณหมอเห็นภาพกว้างของมุมคิดต่าง ๆ ในการเอาไปใช้มองหาทำเล
และถ้าคุณหมอจริงจังกับการหาทำเลมากในคอร์สอบรม Zero to One medclinic เรามีการสอนส่วนนี้ไว้อย่างละเอียดครับ (ลิ้ง)
สวัสดีครับ
หมอมด (ทพ.อภิชาติ ลีนานุรักษ์)

สารบัญ
1.การวางแผนธุรกิจ (คลินิกเวชกรรม , คลินิกเวชกรรมความงาม , คลินิกเฉพาะทางเวชกรรม)